ช่วยเอาอินเทอร์เน็ตออกไปหน่อย : สินธุชา มาธวรรย์

ช่วยเอาอินเทอร์เน็ตออกไปหน่อย

“อ้าว ลมอะไรหอบมาได้ล่ะนี่”
“กลุ้มใจว่ะ เอ็งช่วยเอาอินเทอร์เน็ตออกไปจากชีวิตข้าหน่อยได้ไหม”


วันนี้ชาคริตเพื่อนเก่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัยแวะมาหาผมที่บ้าน หิ้วเหล้ามาด้วยขวดหนึ่งด้วย นัยว่าจะมาดื่มเหล้าปรับทุกข์กับผม ผมต้องรีบบอกว่าเดี๋ยวนี้ผม “แขวนแก้ว” แล้ว และหันมาใส่ใจสุขภาพด้วยการปั่นจักรยานทุกวัน เพื่อนเลยบอกว่าโชคดีที่ผมติดปั่นจักรยาน ส่วนเขาติดเหล้าเพราะเครียดที่เมียกับลูกเป็นโรคติดอินเทอร์เน็ต (Internet Addiction Disorder หรือ IAD) ทำอย่างไรทุกคนในครอบครัวจึงจะหันมาติดการออกกำลังอย่างผมบ้าง


พอได้รับคำสรรเสริญเยินยอเข้าหน่อย ผมก็อดทำตัวเป็นผู้รู้ไม่ได้ เพราะเรื่องโรคติดอินเทอร์เน็ตนี้ ผมก็พอได้อ่านและทำความเข้าใจมาบ้างเหมือนกัน ด้วยทุกวันนี้หันหน้าไปทางไหน เรามักจะได้เห็นมนุษย์พันธุ์ก้มหน้าก้มตาใช้อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ประเภทใดประเภทหนึ่งเสมอ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ค หรือไม่ก็เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ถ้าเล่นแค่ชั่วครั้งชั่วคราวแล้วเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากติดหนักถึงขั้นก้มหน้ามองจอทั้งวัน ก็ย่อมจะทำให้คนรอบข้างหรือคนในครอบครัววิตกกังวลด้วยความห่วงใย เว้นเสียแต่ติดกันงอมแงมทั้งบ้าน ก็คงไม่มีใครสนใจใครอีกแล้ว ตัวใครตัวมันละงานนี้


แล้วอาการแบบไหนหรืออย่างไรล่ะ จึงจะถือว่าเป็นโรคติดอินเทอร์เน็ต ซึ่งนับเป็นกลุ่มอาการทางจิตอย่างหนึ่ง เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตเสพข้อมูลข่าวสารมากจนเกินพอดี เรื่องนี้นักจิตวิทยาของฝรั่งเขาถนัดนักแล ได้ระบุไว้ว่า ชายหญิงใดมีอาการดังต่อไปนี้เป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีขึ้นไป ให้ต้องสงสัยไว้ก่อนเลยว่าเป็นโรคร่วมสมัยดังกล่าว

1. หมกมุ่นกับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา


ข้อนี้เพื่อนผมยอมรับว่า ทุกคนในบ้านแทบจะไม่ยอมห่างจากอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเลย ภรรยาของเขาเลิกงานมาก็ตรงดิ่งเข้าหาคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่บ้านเพื่อคุยออนไลน์กับเพื่อนหรือกิ๊กก็ไม่รู้เหมือนกัน ส่วนพวกลูก ๆ ไม่สนใจโทรทัศน์เครื่องใหญ่มานานแล้ว ภาพที่เห็นทุกเมื่อเชื่อวันคือเอาแต่ก้มหน้ามองจอเล็ก ๆ บนโทรศัพท์มือถือ แล้วก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ บางครั้งจะทำหน้ายุ่ง ๆ เครียด ๆ หรือไม่ก็ถึงกับขบเขี้ยวเคี้ยวฟันราวกับคนวิกลจริตก็ไม่ปาน ขนาดออกไปกินข้าวนอกบ้านด้วยกันทั้งครอบครัว ลูกกับเมียของเขายังไม่สนใจจะคุยกันเองเลย แต่กลับให้ความสนใจกับใครก็ไม่รู้ที่อยู่ไกลออกไปหลายร้อยหลายพันกิโลเมตร

2. ต้องใช้อินเทอร์เน็ตนานขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนคนติดยาเสพติดที่ต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้น


ใช่ มันเป็นอย่างนี้จริง ๆ ชาคริตว่า จากที่เคยนั่งคุยกับเพื่อนในหมู่บ้าน อ่านหนังสือ หรือดูภาพยนต์ร่วมกัน โดยใช้อินเทอร์เน็ตแค่คนละชั่วโมงสองชั่วโมงต่อวัน แต่พออินเทอร์เน็ตมาติดที่บ้าน ทุกคนก็พยายามใช้กันอย่างหนัก อ้างว่าจะได้ไม่ขาดทุน เพราะเล่นมากเล่นน้อยก็เสียเงินเท่ากัน ไป ๆ มา ๆ เลยใช้อินเทอร์เน็ตกันเลยเถิดแทบจะตลอดเวลา

3. ไม่สามารถควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตได้


ข้อนี้เป็นกันทั้งบ้าน ถ้าเพื่อนผมบอกให้ไปซักผ้า รดน้ำต้นไม้ ขัดห้องน้ำ หรือทำกับข้าว ทุกคนจะทำสีหน้าเบื่อหน่ายส่ายหน้า และหงุดหงิดใส่เขาไปตลอดทั้งวัน

4. หงุดหงิดเมื่อไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต หรือต้องลดการใช้ลงกว่าเดิม


นี่ก็เป็นผลต่อเนื่องมาจากข้อที่ 3 นั่นเอง ตามที่ชาคริตเล่า และมักจะมีปัญหามากยิ่งขึ้นหากต้องหยุดใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นเวลานาน ๆ

5. เวลาไม่สบายใจมักคิดว่าถ้าได้ใช้อินเทอร์เน็ตก็จะรู้สึกดีขึ้น


เพื่อนผมบอกว่า ทุกวันนี้ทุกคนในบ้านเวลามีปัญหาไม่ยอมหันมาปรึกษาเขาเหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว แต่จะใช้วิธีไปพูดคุยปรึกษาหารือกับคนแปลกหน้าในอินเทอร์เน็ตแทน และกลายเป็นยอมรับฟังความคิดเห็นพวกนั้นมากกว่าจากเขาผู้เป็นพ่อหรือสามีจนน่าตกใจ เรื่องนี้ทำให้เพื่อนผมเป็นกังวลมาก เพราะเคยอ่านข่าวเกี่ยวกับการล่อลวงทางอินเทอร์เน็ตอยู่เสมอ โดยอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจที่เกิดขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ตนี้

6. ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาหรือความคับข้องใจในชีวิต


สมัยนี้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นศาลาพักใจ ใครมีปัญหาอะไรในโลกแห่งความจริงก็มักจะหลบเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต ลองถามหลายคนดูก็ได้คำตอบว่า มันทำให้ลืมความเป็นจริงไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพราะในโลกอินเทอร์เน็ตใครอยากทำอะไรก็ได้ ไม่ค่อยมีกฎเกณฑ์ให้น่ารำคาญใจ นึกจะด่าใครระบายความเครียดก็ด่ากันง่าย ๆ อย่างที่เห็นกันเกลื่อนในสังคมเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

7. ให้ข้อมูลเท็จกับคนรอบข้างเกี่ยวกับชั่วโมงการใช้งานอินเทอร์เน็ตของตัวเอง


เวลาเพื่อนผมถามว่าเล่นอินเทอร์เน็ตวันละกี่ชั่วโมง ภรรยาหรือลูก ๆ มักจะชอบบอกว่าเล่นนิดหน่อยเท่านั้น และที่เล่นก็เพื่อหาข้อมูลทำงานบ้าง ใช้เพื่อเข้าสังคมบ้าง แต่เพื่อนผมรู้ว่าทุกคนไม่ได้พูดความจริงเลย จากการเข้าไปตรวจสอบประวัติย้อนหลังการเล่นอินเทอร์เน็ตของพวกเขา แต่ละคนใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่าชั่วโมงการทำงานหรือการเรียนเสียอีก

8. มีอาการผิดปกติเวลาหยุดใช้งานอินเทอร์เน็ต


ข้อนี้เพื่อนผมเป็นกังวลมาก เพราะถ้าใช้ไม้แข็งสั่งให้หยุดเล่นอินเทอร์เน็ต ทุกคนในบ้านจะมีอาการหงุดหงิด โกรธง่าย บางครั้งตาขวางใส่เขา หรือไม่ก็เปลี่ยนไปมีท่าทางซึมเศร้าแทน หนัก ๆ เข้าก็มองเขาผู้เป็นพ่อหรือสามีเหมือนคนแปลกหน้าไปเลยทีเดียว

ผมรับฟังแล้วก็กลุ้มใจแทนเพื่อน เพราะตามที่เล่ามานี้ มันเข้าข่ายเป็นโรคติดอินเทอร์เน็ตตัวพ่อตัวแม่เลยทีเดียว ถ้าไม่หาทางป้องกันหรือแก้ไข ดูท่าทางว่าต่อไปจะเยียวยาได้ยาก หรือไม่ก็อาจมีผลเสียตามมาอีกมาก จนเกินกว่าที่ใครจะคาดคิดได้เลยทีเดียว

การติดอินเทอร์เน็ตประเภทต่าง ๆ


ก่อนจะว่ากันถึงวิธีป้องกันและแก้ไข เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะการติดอินเทอร์เน็ตกันก่อนดีกว่า เท่าที่มีการรวบรวมไว้มีดังต่อไปนี้


1. การใช้อินเทอร์เน็ตในแบบหยุดไม่อยู่ เพราะมีความผูกพันกับอินเทอร์เน็ตมาก เช่นการเล่นเกมออนไลน์ สามารถเล่นได้ทั้งวันทั้งคืนไม่มีเบื่อ หรือพูดคุยกับเพื่อนและคนแปลกหน้าทางเครือข่ายสังคมอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา


2. การเสพข่าวสาร โลกอินเทอร์เน็ตนั้นเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมาย ว่ากันว่าอ่านเป็นล้านปีก็ไม่หมด หลายคนจึงรู้สึกสนุกและเสพติด จนต้องคอยเข้าไปอ่านให้บ่อยครั้งที่สุดเพื่อที่จะได้ไม่ตกข่าว ทั้ง ๆ ข่าวเหล่านั้นอาจจะไม่ได้มีประโยชน์ หรือมีผลดีผลเสียกับตัวเองเลยก็ตาม


3. การเสพติดการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต มีคนจำนวนไม่น้อยชอบซื้อขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต เนื่องจากสะดวก เพราะไม่ต้องออกจากบ้านให้เสียเวลา เปลืองน้ำมัน หรือเผชิญอากาศร้อน และมักจะใช้เป็นข้ออ้างในการซื้อสินค้าที่บ่อยครั้งเป็นสินค้าที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ นั่นเป็นเพราะพวกเขาสนุกกับการซื้อขายมากกว่า


4. ได้พบเจอเพื่อนใหม่ ๆ ในเว็บบอร์ดหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งผู้เป็นโรคติดอินเทอร์เน็ตจะรู้สึกสนิทสนมและชื่นชอบ รวมถึงอาจจะให้ความไว้วางใจมากกว่าเพื่อนในโลกแห่งความเป็นจริงอีกด้วย


5. เสพติดเรื่องลามก หลายคนที่เป็นโรคติดอินเทอร์เน็ตเนื่องมาจากนิยมเข้าเว็บไซต์เรื่องทางเพศ เนื่องจากเข้าไปชมเนื้อหาได้โดยไม่มีใครรู้ ทำให้สามารถสนองตอบรสนิยมทางเพศของตนได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะพิสดารพันลึกขนาดไหนก็ตาม ซึ่งผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริงรอบ ๆ ตัวอาจไม่มีวันยอมรับได้

วิธีการป้องและแก้ไข


อีแวน โกลด์เบิร์ก จิตแพทย์ผู้ค้นพบโรคร่วมสมัยอย่างโรคติดอินเทอร์เน็ตได้ให้คำแนะนำว่า ผู้เป็นโรคนี้ต้องรู้ตัวก่อนว่าใช้อินเทอร์เน็ตมานานและมากขนาดไหน ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากอะไร และเพราะเหตุใดถึงต้องใช้อินเทอร์เน็ตมากมายขนาดนั้น การหลบหนีปัญหาจากโลกแห่งความจริงเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตไม่ได้ช่วยให้ปัญหาในชีวิตหายไปหรือดีขึ้น วิธีการที่เหมาะสมคือกลับเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง ด้วยการเข้าสังคมกับเพื่อนบ้าน เพื่อนที่โรงเรียนหรือเพื่อนที่ทำงาน โดยใช้อินเทอร์เน็ตเท่าที่จำเป็น และลืมอินเทอร์เน็ตให้นานที่สุด


นอกจากนี้ ผู้มีประสบการณ์หลายคนแนะนำให้คนเป็นโรคติดอินเทอร์เน็ตถามตัวเองเสมอว่า ตนสูญเสียหรือพลาดอะไรไปบ้างจากการเล่นอินเทอร์เน็ตมากเกินไป อาจจะเป็นกิจกรรมดี ๆ หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้างในชีวิตจริง จากนั้นค่อย ๆ ลดชั่วโมงการใช้งานลง หากทำไม่ได้ก็ต้องมองหาความช่วยเหลือจากคนที่ไม่ติดอินเทอร์เน็ต ศึกษาดูว่าพวกเขาอยู่กันอย่างไรโดยใช้งานอินเทอร์เน็ตเท่าที่จำเป็น ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ขั้นสุดท้ายก็ต้องไปพบแพทย์

หลังจากคุยกับชาคริตจนเข้าใจดีแล้ว เขาก็ยังไม่วายหลุดปากออกมาว่า “ถ้าโลกนี้ไม่มีอินเทอร์เน็ตก็คงดีไม่น้อย” ผมได้ฟังก็อดหัวเราะไม่ได้ ต้องย้ำกับเขาว่า เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะอินเทอร์เน็ตนอกจากจะให้ความสะดวกสบายในเรื่องของการสื่อสารและความบันเทิงแล้ว มันยังเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ ทางเดียวที่ทุกคนจะปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจได้ ก็โดยประคองตนเองไม่ได้ลุ่มหลงมันมากเกินไป รวมถึงตระหนักรู้ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงยังมีอะไรให้ใส่ใจอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวของเรานั่นเอง


เมื่อเพื่อนกลับไปแล้ว ผมก็ลงมือเขียนบทความนี้จนเสร็จ จากนั้นส่งต้นฉบับให้แก่นิตยสารคู่สร้างคู่สมทางอีเมล์ ก่อนจะปิดคอมพิวเตอร์ และออกไปปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพที่ดีต่อไป

ช่วยเอาอินเทอร์เน็ตออกไปหน่อย
ช่วยเอาอินเทอร์เน็ตออกไปหน่อย

ใส่ความเห็น